ลูกช้าง มช. ร่วมสนับสนุนกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์

(Carbon Neutral Event) “ขยะของใคร คนนั้นรับผิดชอบ”


กิจกรรมประเพณีนำนักศึกษาใหม่ขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุดอยสุเทพ นับเป็นกิจกรรมที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาเก่า บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้จัดกิจกรรมต่อเนื่องกันมาหลายปี และปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมเรื่อยมาจนมาถึงปัจจุบัน ตามบริบทที่เหมาะสม แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ ผสมผสานกับการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ความเชื่อ ความเป็นสิริมงคล ความศรัทธาต่อพระบรมธาตุดอยสุเทพ ให้คงอยู่เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงาม

ในปี 2566 เป็นอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจากนักศึกษาใหม่ นักศึกษาปัจจุบัน นักศึกษาเก่า บุคลากรมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ให้การสนับสนุนและร่วมดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 10,000 คน

ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน จึงได้มีแนวคิดที่สำคัญด้านการจัดการขยะที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมรับขึ้นดอย วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2566 คือ “ขยะของใคร คนนั้นรับผิดชอบ” โดยตลอดระยะทางเดินขึ้นดอยกว่า 14 กิโลเมตร ลูกช้าง มช. จะทิ้งขยะเฉพาะจุดที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น ไม่ทิ้งข้างทางให้เป็นภาระของผู้อื่น รวมถึงการแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้ลดขยะที่ต้องนำไปฝังกลบได้ทั้งหมด 100% ก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้จากการไม่ฝังกลบขยะ 5.0 tCO2e (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสนับสนุนกิจกรรมชดเชยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral Event)

โดยการจัดการกับขยะจากกิจกรรมครั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้นำขยะทั่วไปที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และเศษอาหารเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเป็นพลังงาน โดยศูนย์บริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร (ERDI CMU) และขายต่อขยะรีไซเคิล นำเงินรายได้บริจาคแก่มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นับเป็นกิจกรรมที่ลดผลกระทบทางลบด้านสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะและของเสียอื่น ๆ ที่จะเกิดกับจังหวัดเชียงใหม่

×